รายงานการศึกษา : หุ่นยนต์เล่นหมากรุกสากล ฝีมือ น.ศ.ฟีโบ้ มจธ.
แขนกลเป็นหุ่นยนต์ประเภทนึงที่นำมาประยุกต์ใช้งานได้อย่างหลากหลาย โดยหุ่นยนต์ที่นำมาใช้งานในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะเป็นแขนกลที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ และเป็นการออกแบบให้เหมาะกับการใช้งานในอุตสาหกรรม ขณะที่ หุ่นยนต์แขนกลเล่นหมากรุกสากล หรือ Chess Robot ออกแบบโดยนักศึกษาของสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่เฉพาะเจาะจงในการนำมาประยุกต์ใช้กับการเล่นหมากรุกกับมนุษย์โดยเฉพาะ ความสามารถในการหยิบจับ และการเคลื่อน อยู่ในระดับที่ปลอดภัยสำหรับผู้เล่น
หุ่นยนต์เล่นหมากรุกสากล เป็นผลงานภาคบังคับ Class Project Module 8-9 ปีการศึกษา 2563 ในวิชา Robotics Studio ของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ระดับปริญญาตรี ซึ่ง ดร.ณรงค์ศักดิ์ ถิรสุนทรากุล อาจารย์ FIBO กล่าวว่า หุ่นยนต์ดังกล่าวเป็นผลงานในเวลาเรียนของนักศึกษาชั้นปี 3 ที่ต้องทำโปรเจกต์ส่งก่อนขึ้นปี 4 โดยนำความรู้จากรายวิชาที่ได้เรียนทั้งหมดมาประยุกต์ใช้ออกแบบ ร่วมกันสร้างผลงานภาคบังคับ
ซึ่งโจทย์ปีนี้ คือสร้างแขนกลแบบอนุกรม หุ่นยนต์ที่เล่นหมากรุกสากลแข่งกับมนุษย์ได้ ต้องเรียนรู้วิธีการเล่นหมากรุกของคน และต้องสอนวิธีการเล่นหมากรุกตามเป้าหมาย คือไม่จำเป็นต้องเล่นให้ชนะคน แต่ให้หุ่นยนต์เล่นหมากรุกกับคนให้ครบ 15 ตา และไม่แพ้ก่อน 15 ตา ก็ถือว่าสอบผ่าน
โดยกำหนดโจทย์ดังนี้ 1.แขนกลจะต้องมีองศาอิสระอย่างน้อย 4 องศา 2.แขนกลเชื่อมต่อกันเป็นข้อๆ มีข้อต่อแบบเลื่อนได้มากสุด แค่ข้อต่อเดียว 3.ออกแบบมือจับ หรือ griper ในการหยิบจับวัตถุที่มีรูปร่างแตกต่างกันได้ 4.หุ่นยนต์ต้องมีน้ำหนักไม่เกิน 15 กิโลกรัม 5.น้ำหนักตัวหมากไม่เกิน 200 กรัม 6.ใช้กล้องได้ไม่เกิน 2 ตัวต่อ 1 กลุ่ม ติดตรงไหนก็ได้ ทำ station เพิ่มได้ 7.ใช้ AI เป็น หรือสอน AI ให้ประเมินผลได้ว่าเดินแบบไหนจึงจะชนะคนได้ 8.รองรับกติกาการเล่นหมากรุกสากลพื้นฐานได้ 9.กินตัวหมากฝ่ายตรงข้ามได้
ศิษย์เก่าฟีโบ้ที่ได้ทำโจทย์นี้ ธนทัต พรประเสริฐ หรือ จูล่ง กล่าวว่า ความยากของการทำงาน คือทำอย่างไรให้การทำงานของระบบประสานกันได้มากที่สุด สิ่งที่ได้รับคือการทำงานเป็นทีม ทำให้ได้ผลงานออกมาดี
ขณะที่ ภัทรานิษฐ์ ประทุนเกตุ หรือ มาย เสริมว่า สิ่งที่ได้รับนอกจากทำงานร่วมกับผู้อื่นแล้ว ยังได้เรียนรู้เรื่องการสื่อสาร เพราะการทำหุ่นยนต์ต้องใช้คนจากหลายๆ ฝ่ายมาร่วมกัน ถึงจะทำหุ่นยนต์ขึ้นมาได้
ปิดท้ายที่ เมธัส มานวกุล หรือ กานต์ กล่าวว่า ส่วนที่ผมทำ และรับผิดชอบ แตกต่างกันจากคนอื่น ไม่ใช่สิ่งที่ออกมาให้เห็น หรือจับต้องได้ แต่เป็นงานเชิงรูปภาพที่ต้องหาค่าความสัมพันธ์เพื่อให้ได้สมการออกมา ถ้าเรียนทฤษฎีอย่างเดียว ไม่ได้นำความรู้จากที่เรียนมาลงมือทำ ก็เหมือนไม่ได้อะไรจากที่เรียนมาเลย แต่พอได้ทำ Class Project และได้ผลตามที่จำลอง หรือ simulation ก่อนนำไปใช้ มันรู้สึกว่า wow มาก และผลงานที่ทำก็ไปเชื่อมต่อการทำงานกับระบบอื่นๆ ได้
ติดตามข่าวการศึกษาและข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นี่ : ชง ‘บอร์ดก.ค.ศ.’ ตั้งบิ๊กเขตพื้นที่ฯ 22 ก.ย.นี้ ‘อัมพร’